การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 
( Personal Accident  Insurance )

อุบัติเหตุ ( Accident )  หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนามุ่งหวัง
ส่วนบุคคล ( Personal )  หมายถึง การกำหนดให้เอาชีวิต หรือร่างกายของผู้เอาประกันภัย เป็นวัตถุที่เอาประกันภัย
การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล  ( Personal  Accident  Insurance – P.A. )
คือ  การประกันภัยประเภทหนึ่ง  ที่ผู้รับประกันภัย  สัญญาว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับอุบัติเหตุ  อันมีผลจากปัจจัยภายนอกมากระทบร่างกายโดยฉับพลัน  และทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต  อวัยวะ  สายตา  ทุพพลภาพ  หรือค่ารักษาพยาบาล  ตามความคุ้มครองที่ได้ตกลงกันไว้ระหว่างผู้รับประกันภัย  และผู้เอาประกันภัย
ปกติ  การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล  ให้ความคุ้มครองตลอด  24  ชั่วโมง  ทั่วทุกหนทุกแห่งทั่วโลก       ไม่ว่าระหว่างปฏิบัติภารกิจ  หน้าที่การงาน  เดินทางท่องเที่ยว  ออกกำลังกาย  เล่นกีฬา  ตลอดจนพักผ่อนในที่พักประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล  ( Personal  Accident  Insurance )
ข้อตกลงความคุ้มครอง  อบ.1
ข้อ 1 : การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ  สายตา  หรือทุพพลภาพถาวรโดยสิ้นเชิง             
ถ้าความบาดเจ็บทีได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัย เสียชีวิต  สูญเสียอวัยวะ  หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงภายใน  180  วัน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  หรือความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรักษาตัวติดต่อกันในฐานะ คนไข้ในของโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพราะความบาดเจ็บเมื่อใดนั้นก็ดี  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนให้ดังนี้

  1. 100 %  ของจำนวนเงินประกันภัย  สำหรับการเสียชีวิต
    1. 100 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง  และการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงนั้นได้  เป็นไปติดต่อกันไม่น้อยกว่า  12 เดือน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า ผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพอย่างแท้จริง
    1. 100 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือเท้าสองข้าง ตั้งแต่ข้อเท้า  หรือ สายตาสองข้าง
    1. 100 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือข้างหนึ่งตั้งแต่ข้อมือ  และเท้าข้างหนึ่ง  ตั้งแต่ข้อเท้า
    1. 100 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า  และสายตาหนึ่งข้าง
    1. 100 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือและสายตาหนึ่งข้าง
    1. 60 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ
    1. 60 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า
    1. 60 %   ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับสายตาหนึ่งข้าง

การสูญเสียอวัยวะโดยถาวรสิ้นเชิง
หมายถึง การถูกตัดออกจากร่างกายตั้งแต่ข้อมือ  หรือข้อเท้า  และให้หมายถึงการสุญเสียสมรรถภาพในการใช้งานของอวัยวะดังกล่าวข้างต้น  โดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกต่อไป
การสูญเสียสายตา  หมายถึง  ตาบอดสนิทไม่มีทางรักษาได้อีกต่อไป
บริษัทจะจ่ายค่าทดแทน ตามข้อนี้เพียงรายการที่สูงที่สุด  รายการเดียวเท่านั้น
ข้อ 2 : ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอา ประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิงภายใน  180  วัน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนรายสัปดาห์  ให้ในจำนวนเงินต่อสัปดาห์  ตามที่ระบุไว้ในตาราง  ตลอดระยะเวลาที่ยังทุพพลภาพอยู่  ( สูงสุดไม่เกิน 52 สัปดาห์ )  หักด้วยจำนวนเงินส่วนแรก  ที่ผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบเองที่ระบุไว้ในตาราง ( ถ้ามี )  บริษัทจะเลิกเหมาจ่ายค่าทดแทนข้อนี้ทันที หลังจากมีกรณีที่ต้องจ่ายทดแทนที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงความคุ้มครอง  ข้อที่ 1
ข้อ 3 : ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอา ประกันภัยตกเป็นผู้ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วนภายใน  180  วัน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนรายสัปดาห์ให้ในจำนวนเงินต่อสัปดาห์  ตามที่ระบุไว้ในตารางตลอดระยะเวลาที่ยังทุพพลภาพอยู่ ( สูงสุดไม่เกิน  52  สัปดาห์ )   ด้วยจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองตามที่ระบุไว้ใน ตาราง  ( ถ้ามี )  บริษัทจะเลิกจ่ายค่าทดแทนข้อนี้ทันทีหลังจากมีกรณีต้องจ่ายค่าทดแทนที่เกิด ขึ้นตามข้อตกลงความคุ้มครอง ข้อ1  หรือ  ข้อ2
ข้อ 4 : การรักษาพยาบาล
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์  ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย  หรือต้องได้รับการพยาบาลจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต  บริษัทจะชดเชยค่าใช้จ่ายที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปจริง  ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 52 สัปดาห์  นับแต่วันที่เกิดเหตุ  สำหรับค่ารักษาพยาบาล  ค่าการพยาบาล  แต่ไม่รวมถึงการจ้างพยาบาลพิเศษ  ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินที่บริษัทรับผิดชอบที่ระบุไว้ในตาราง  หักด้วยจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามที่ระบุไว้ใน ตาราง  ( ถ้ามี )  แต่หากผู้เอาประกันภัยได้รับการชดเชยจากสวัสดิการของรัฐ  หรือสวัสดิการอื่นใด หรือจากการประกันภัยอื่นมาแล้ว  บริษัทจะรับผิดเพียงจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าการพยาบาลส่วนที่ขาดเท่า นั้น
ความคุ้มครอง  อบ.2
ข้อที่ 1 :  การเสียชีวิต การสุญเสียอวัยวะ  สายตา  การรับฟังเสียง  การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวร
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต  สูญเสียอวัยวะดวงตา  สายตา  การรับฟังเสียง  หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง  ภายใน  180  วัน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  หรือความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรักษาตัวติดต่อกันในฐานะ คนไข้ในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพราะความบาดเจ็บเมื่อใดก็ดี  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนให้ดังนี้

  1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับการเสียชีวิต
    1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับการตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง  และการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงนั้นได้เป็นไปติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าผู้เอาประกัน ภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
    1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือสองข้าง  ตั้งแต่ข้อมือ หรือเท้าทั้งสองข้าง  หรือสายตาสองข้าง
    1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ  และ เท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า
    1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ  และสายตาหนึ่งข้าง
    1. 100 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้าละสายตาหนึ่งข้าง
    1.   60 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ 
    1.   60 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า
    1.   60 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับสายตาหนึ่งข้าง
    1.   50 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับหูหนวกสองข้างหรือเป็นใบ้
    1.   15 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับหูหนวกหนึ่งข้าง
    1.   25 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วหัวแม่มือ  ( ทั้งสองข้าง )
    1.   10 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วหัวแม่มือ  ( หนึ่งข้อ )
    1.   10 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วชี้  ( ทั้งสามข้อ )
    1.     8 % ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับนิ้วชี้  ( ทั้งสองข้อ ) 
    1.     4 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วชี้  ( หนึ่งข้อ )
    1.     5 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วอื่นๆ แต่ละนิ้ว  ( ไม่น้อยกว่าสองข้อ )  นอกจากนิ้ว  หัวแม่เท้า  แม่มือ  และ นิ้วชี้
    1.     5 %  ของนิ้วหัวแม่เท้า
    1.     1 %  ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  สำหรับนิ้วเท้าอื่นๆ แต่ละนิ้ว  ( ไม่น้อยกว่าหนึ่งข้อ )  นอกจากนิ้ว หัวแม่เท้า

การสูญเสียอวัยวะโดยถาวรสิ้นเชิง
หมายถึง  การถูกตัดออกจากร่างกาย  และให้หมายถึง การสูญเสียสมรรถภาพในการใช้งานของอวัยวะดังกล่าวข้างต้น โดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกต่อไป
การสูญเสียสายตา
หมายถึง  ตาบอดสนิทและไม่มีทางรักษาให้หายได้ตลอดไป  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนตามข้อนี้เพียงรายการเดียวเท่านั้น  เว้นแต่กรณีที่มีการสูญเสียนิ้วมือหรือนิ้วเท้าโดยถาวรสิ้นเชิง ตามรายการที่ 1.12  ถึง  1.19    และไม่อาจเรียกร้องค่าทดแทนตามรายการใดรายการหนึ่งในรายการที่  1.11  ถึง  1.19  ได้  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนให้ตามความสูญเสียที่แท้จริงในแต่ละรายการร่วมกัน  แต่ไม่เกินจำนวนเงินทีเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
ข้อ 2 : ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
ถ้ามีความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอา ประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราวโดยสิ้นเชิงภายใน  180  วัน  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนรายสัปดาห์ให้ในจำนวนเงินต่อสัปดาห์ตามที่ระบุไว้ใน ตาราง  ตลอดระยะเวลาที่ยังทุพพลภาพอยู่  ( สูงสุดไม่เกิน 52 สัปดาห์ )  หักด้วยจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองตามที่ระบุไว้ ในตาราง  ( ถ้ามี )  บริษัทจะเลิกจ่ายค่าทดแทนข้อนี้ทันที หลังจากที่มีกรณีต้องจ่ายค่าทดแทนที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงคุ้มครองที่ 1
ข้อ 3 : ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับ ทำให้ผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราวแบบบางส่วนภายใน  180  วัน  นับแต่วันทีเกิดอุบัติเหตุ  บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนรายสัปดาห์ให้ในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตาราง  ตลอดระยะเวลาที่ยังทุพพลภาพอยู่  ( สูงสุดไม่เกิน  52  สัปดาห์ )  หักด้วยจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองที่ระบุไว้ใน ตาราง  ( ถ้ามี )  บริษัทจะเลิกจ่ายค่าทดแทนข้อนี้ทันที หลังจากมีกรณีต้องจ่ายค่าทดแทนที่เกิดขึ้น  ตามข้อตกลง  คุ้มครอง  ข้อ  1  หรือ  ข้อ 2
ข้อ 4 : การรักษาพยาบาล
ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอา ประกันภัยต้องรีบการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ตาม กฎหมายหรือต้องได้รับการพยาบาลจากพยาบาลที่มีใบอนุญาต  บริษัทจะชดเชยค่าใช้จ่ายที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปจริง  ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 52  สัปดาห์  นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ  สำหรับค่ารักษาพยาบาล  ค่าการพยาบาล  แต่ไม่รวมถึงการจ้างพยาบาลพิเศษ  ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนเงินที่บริษัทต้องรับผิดชอบไว้ในตาราง  หักด้วยจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองที่ ระบุไว้ในตาราง  ( ถ้ามี )
แต่หากผู้เอาประกันภัยได้รับการชดเชยจากสวัสดิการของรัฐ  หรือสวัสดิการอื่นใด  หรือจากประกันภัยอื่นมาแล้ว  บริษัทจะรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าการพยาบาลส่วนที่ขาด เท่านั้น
ข้อยกเว้น

  1. เหตุแห่งการสูญเสียหรือเสียหายที่ไม่คุ้มครอง
    1. การกระทำของผู้เอาประกันภัยที่อยู่ภายใต้ของฤทธิ์สุรา หรือยาเสพติดให้โทษร้ายแรงจนไม่สามารถครองสติได้
    1. การฆ่าตัวตาย  พยายามฆ่าตัวตาย  หรือทำร้ายร่างกายตัวเอง
    1. การได้รับเชื้อโรค  เว้นแต่ติดเชื้อหรือมีหนอง  หรือบาดทะยัก  หรือโรคกลัวน้ำซึ่งเกิดจากบาดแผลที่ได้รับจากอุบัติเหตุ
    1. การได้รับรักษาทางเวชกรรม  หรือศัลยกรรม  เว้นแต่  ที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องมาจากได้รับบาดเจ็บซึ่งได้รับคุ้มครองตามกรมธรรม์ ประกันภัยฉบับนี้  และได้กระทำภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
    1. การแท้งลูก
    1. การรักษาฟัน  การรักษารากฟัน  การเปลี่ยน หรือใส่ฟันปลอม  เว้นแต่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
    1. การปวดหลัง  อันมีสาเหตุมาจาก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท  กระดูกสันหลังเคลื่อน  กระดูกสันหลังเสื่อม  กระดูกสันหลังอักเสบ  และภาวะเว้นแต่มีการแตกหัก  หรือเคลื่อนของกระดูกสันหลัง อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
    1. สงคราม  ( ไม่ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ก็ตาม )      การรุกราน  หรือการกรทำของศัตรูต่างชาติ  สงครามกลางเมือง  การปฏิวัติ  การกบฏ  การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล  การจลาจล  การนัดหยุดงาน
    1. อาวุธนิวเคลียร์  การแผ่รังสี  หรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์  หรือจากกากนิวเคลียร์ใดๆ  อันเนื่องมาจากการเผาของเชื้อเพลิง  และกรรมวิธีใดๆแห่งการแตกแยกตัวทางนิวเคลียร์ซึ่งดำเนินการติดต่อกันไปโดย ตัวชองมันเอง
  2. เวลาแห่งความสูญเสียหรือเสียหายที่ไม่คุ้มครอง
    1.   ขณะที่ผู้เอาประกันภัยล่าสัตว์ในป่า  แข่งรถ  หรือแข่งเรือทุกชนิด  แข่งม้า  เล่นหรือแข่งสกี  ทุกชนิด แข่งเสก็ต  ชกมวยอาชีพ  โดดร่ม  ( เว้นแต่การโดร่มเพื่อรักษาชีวิต )  ขณะขึ้น หรือ ลง หรือโดยสารอยู่ในบอลลูน  หรือเครื่องร่อน  เล่นบันจี้จั๊มพ์  ปีนหรือไต่เขาที่ต้องใช้เครื่องมือช่วย  ดำ  น้ำที่ต้องใช้ถังอากาศและเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยขับขี่ หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยกำลังขึ้น  หรือลง  หรือขณะโดนสารอยู่ในอากาศยานที่ยังไมได้จดทะเบียนเพื่อบรรทุกผู้โดยสาร  และ มิได้ประกอบการโดยสารการบินพาณิชย์
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยขับขี่หรือปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานประจำอากาศยานใดๆ
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยก่ออาชญากรรม  หรือ ขณะที่ถูกจับกุม  หรือ หลบหนีการจับกุม
    1. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร  ตำรวจ  หรืออาสาสมัคร  หรือการปราบปรามนั้น  เกิน  30  วัน  บริษัทจะคืนเบี้ยประกัน  ตั้งแต่ระยะเวลาที่เข้าปฏิบัติการสงคราม  หรือปราบปรามนั้น จนถึงวันสิ้นสุดการปฏิบัติการนั้น  ส่วนหลังจากนั้น  ให้กรมธรรม์มีผลบังคับต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาปรันภัยที่กำหนดไว้ในตาราง

การจำแนกอาชีพ
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการ กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย  คือ  ความเสี่ยงของอาชีพ  อาชีพที่มีความเสี่ยงสูง  ย่อมจะเสียเบี้ยประกันภัยในอัตราสูงกว่าอาชีพที่มีความเสียงภัยน้อยกว่า  แบ่งออกเป็น  4 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ
ประเภทอาชีพชั้น 1  หมายถึง เจ้าของ  ผู้ปฏิบัติงานด้านบริหาร  หรืองานจัดการงานเสมียนหรืองานขาย  ในธุรกิจหรือการค้า  ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน  และรวมถึงการทำงานฝีมือที่ไม่ใช้เครื่องจักร  ลักษณะ งาน : เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระดับต่ำ
ประเภทอาชีพชั้น 2  หมายถึง  เจ้าของผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการ  หรือพนักงานในธุรกิจการค้าซึ่งทำงานนอกสำนักงานเป็นครั้งคราว หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานทางด้านอุตสาหกรรม  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพเฉพาะหรือกึ่งอาชีพเฉพาะ  และบางครั้งอาจมีการใช้เครื่องจักรหรือเป็นผู้ปฏิบัติลักษณะงานที่ใช้ วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งเกือบตลอดเวลา  ลักษณะงาน : เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระดับปานกลาง
ประเภทอาชีพชั้น 3  หมายถึง  ผู้ปฏิบัติงานในด้านช่าง  หรือกระบวนการผลิต  หรือการบริการ  ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้เครื่องจักรกลหนักหรือเป็นผู้ใช้แรงงาน  ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่งที่มีการเดินทางหรือทำงานนอกสำนักงาน เป็นประจำ  ลักษณะงาน : เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในระดับสูง
ประเภทอาชีพชั้น หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานที่มีอาชีพพิเศษ  ซึ่งไม่สามารถจัดเข้าประเภทอาชีพชั้น 1  2  หรือชั้น 3   ลักษณะงาน : เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากเป็นพิเศษ
ผู้รับผลประโยชน์
ควรระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์  โดยพิจารณาจากบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียหากเกิดเหตุกับผู้ที่เอาประกันภัย  อันได้แก่  บุคคล  5 บุคคล  คือ

1.  สามี                   2.  ภรรยา                     3.  บิดา                   4.  มารดา                 5.  บุตร